ข้อดีข้อเสียของ Free weight และ Machine เวทเทรนนิ่งแบบไหนดีที่สุด ?

สำหรับการออกกำลังกายในชีวิตประจำวัน เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักการออกกำลังกายแบบ Cardio และอุปกรณ์อย่างลู่วิ่งกันมาบ้าง แต่ในวันที่การออกกำลังกายแบบเดียวไม่เพียงพอต่อสุขภาพและสรรถภาพร่างกายที่แข็งแรงครบทุกด้าน เวท เทรนนิ่ง (Weight Training) จึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการออกกำลังกายสำคัญที่ต้องออกควบคู่ไปกับ Cardio นั่นเอง

แต่ในมุมของผู้เล่น ยังคงมีข้อถกเถียงระหว่างการเล่นแบบ Free Weight กับ Machine ว่าแบบไหนดีกว่ากัน และในมุมของผู้ประกอบการ การเข้าใจข้อดี ข้อเสีย และความแตกต่างของการเล่นแต่ละแบบก็จำเป็น เพราะคุณเป็นผู้ออกแบบพื้นที่และเลือกซื้อเครื่องออกกำลังกายมาประกอบฟิตเนสของตัวเอง ดังนั้นการเข้าใจจึงทำให้คุณสามารถจัดการออกแบบให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าและความนิยมด้วย

แต่ก่อนจะเริ่มเปรียบเทียบ เรามาทำความเข้าใจรูปแบบ และความหมายของ Free Weight และ Machine กันก่อน

การออกกำลังกายแบบ Weight Training

เวทเทรนนิ่ง (Weight Training) คือการออกกำลังกายโดยใช้น้ำหนักทั้งจากน้ำหนักตัว และเหล็กในการออกแรงดันจากร่างกาย เพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อในแต่ละส่วน โดยมีหน้าที่ในการช่วยเร่งการเผาผลาญพลังงานโดยรวมมากขึ้น ทำให้ร่างกายกระชับและกล้ามเนื้อแข็งแรง โดยเราสามารถแบ่งอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับเวทเทรนนิ่งได้เป็น 2 แบบได้แก่

  • อุปกรณ์ Free Weight: คืออุปกรณ์มีน้ำหนักที่ตั้งอยู่แบบอิสระ ไม่ได้ยืดติดอยู่กับที่หรือพื้น เช่น ดัมเบล (Dumbbell), บาร์เบล (Barbell), เคตเทิลเบล (Kettlebell), คลับเบล (Clubbell), แผ่นเหล็ก, ถุงทราย หรือแม้กระทั่งสิ่งของรอบบ้านที่มีน้ำหนักเพียงพอเช่น ขวดน้ำลิตร หรือกระป๋องซุป
  • อุปกรณ์ Weight Machine: คืออุปกรณ์ที่มีแรงต้านโดยมีลักษณะเป็นเครื่องตั้งพื้นที่ผู้เล่นจะต้องนั่ง ยืน หรือนอนเพื่อดึงน้ำหนักไปยังทิศทางใดทิศทางหนึ่งตามที่เครื่องออกแบบมา โดยปกตินิยมมากในฟิตเนส มักมีพื้นที่แยกสำหรับเครื่องออกกำลังกายนี้โดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น Smith Machine, Chest Press, Leg Extension

ภาพอุปกรณ์ Free Weight: ดัมเบล(ซ้าย), บาร์เบล(กลาง), เคตเทิลเบล(ขวา)

เครดิตรูปภาพ : Amazon, Tunturi, Yorkbarbell

ภาพอุปกรณ์ Weight Machine: Chest press(ซ้าย), Leg extension(ขวา)

เครดิตรูปภาพ : Sparksfitness, Bodybasics

เมื่อเข้าใจประเภทของอุปกรณ์เวทเทรนนิ่งแล้ว สิ่งที่ต้องสนใจต่อไปคือ ข้อดีข้อเสียและลักษณะการออกกำลังกายที่แตกต่างกันระหว่างอุปกรณ์คนละแบบ

ข้อดีของ Free Weight

1. ราคาจับต้องได้และพื้นที่ที่เหมาะสม

อุปกรณ์ Free Weight ส่วนใหญ่มักมีราคาถูกกว่าเครื่องเล่นแบบ Machine เสมอเช่น ดัมเบลที่ราคาตั้งแต่ 200 ไปจนถึงหลักพันต้นๆ และด้วยลักษณะของอุปกรณ์ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากเกินไป ไม่มีโครงสร้างใหญ่ ทำให้สะดวกต่อการพกพาและขนย้ายมากกว่า Machine ขนาดใหญ่ที่ตั้งถาวรอยู่ในยิม ใช้พื้นที่ในการตั้งอุปกรณ์น้อยกว่า นึกถึงภาพชั้นวางดัมเบลหลากหลายขนาด หรือชั้นใส่คลับเบลแล้ว ถือว่าเหมาะกับฟิตเนสที่มีพื้นที่จำกัดหรือการออกกำลังกายภายในบ้านมากกว่าแน่นอน

เครดิตรูปภาพ : Bodyprogym

2. เล่นได้หลากหลาย

การออกกำลังกายท่าเดิมๆ อาจจะตามมาพร้อมกับความเบื่อที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ไม่อยากออกกำลังกายต่อไป จุดนี้ทำให้การออกกำลังกายแบบ Free Weight ได้เปรียบเครื่องเล่นไปเพราะเราไม่ได้ถูกบังคับให้ดึงหรือยกน้ำหนักไปในท่าเดียวตามที่เครื่องกำหนด แต่สามารถออกได้หลายท่าและหลายส่วน ทำให้การออกกำลังกายมีความหลากหลายและสนุกมากขึ้น เช่นการเล่นดัมเบลที่สามารถออกได้ทั้งกล้ามเนื้อ Bicep และ Tricep แต่ละส่วนก็เล่นได้หลายท่าเป็นเซ็ตๆ

เครดิตรูปภาพ : Muscleandfitness

3. ได้กล้ามเนื้อหลายส่วน

จุดเด่นสำคัญของ Free Weight คือเราจะได้ใช้กล้ามเนื้อหลายส่วนมากกว่า Machine ไม่ใช่แค่กล้ามเนื้อส่วนที่เราอยากได้ แต่ยังจะได้ทั้งข้อต่อ เอ็น และกล้ามเนื้อส่วนที่เรียกว่า Stabilizer Muscle ที่ช่วยรักษาสมดุลของการเคลื่อนไหวโดยการหดตัวเพื่อยึดหรือประคองอวัยวะ ซึ่งเป็นธรรมชาติและคล้ายกับการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันมากกว่า ทั้งการย่อ เกร็ง ขยับท่าในทิศซ้ายขวาหน้าหลัง  เทียบกับ Machine ที่บังคับท่าและทิศการเคลื่อนไหวทำให้เราไม่ได้ใช้ส่วนอื่นนอกเหนือจากส่วนที่โฟกัส

ตัวอย่างง่ายๆคือการทำท่าสควอท  (Squat) ที่บริหารกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้าหรือกล้ามเนื้อ Quads โดยใช้น้ำหนักตัวประกอบกับดัมเบลหรือบาร์เบล เปรียบกับการใช้เครื่อง Leg Press ที่ได้กล้ามเนื้อส่วนเดียวกัน การสควอทจะมีประโยชน์กว่าตรงที่จะได้ใช้กล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกและด้านใน แถมลำตัวส่วนกลางด้วย นอกจากนี้ยังเผาผลาญแคลอรี่ได้มากกว่าเพราะได้ใช้กล้ามเนื้อในลักษณะกึ่ง Full Body จึงเหมาะกับคนที่ต้องการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักนั่นเอง

4. เหมาะกับทุกคน

ด้วยลักษณะอุปกรณ์ที่อิสระมากกว่า ไม่ต้องเดินไปนั่งที่ Machine ซึ่งถูกออกแบบมาโดยมีขนาดค่อนข้าง Fix แม้เครื่องส่วนใหญ่จะสามารถปรับความสูง ทิศซ้ายขวา หรือความพอดีกับตัวได้ แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ดี เพราะไม่ใช่ว่าเครื่องๆเดียวจะพอดีกับทุกคน  เปรียบเทียบกับ Free Weight ที่ไม่ว่าจะมีรูปร่างแบบไหน สูงเท่าใด ก็สามารถออกกำลังกายได้หมดโดยที่เลือกเล่นท่าที่เหมาะสมกับตัวเอง

ข้อเสียของ Free Weight

1. เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ

การออกกำลังกายแบบ Free Weight แม้จะดูง่าย สะดวก และได้กล้ามเนื้อหลายส่วนมากกว่าด้วยท่าที่หลากหลาย แต่จะเล่นท่าได้ก็ต้องรู้จักท่าและสามารถออกได้ถูกต้องเพราะการขยับเข่าหรือแขนเอียงมากเกินไป หรือผิดองศาก็ทำให้ร่างกายรับน้ำหนักผิดที่ ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย และถ้าบาดเจ็บแล้วก็จะมีผลในระยะยาวเพราะกว่าจะรู้ตัวว่าเล่นผิดท่าก็บาดเจ็บซะแล้ว ที่สำคัญคืออุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้มากับคู่มือหรือท่าการเล่นที่ถูกต้องเสมอไป ดังนั้นผู้เล่นต้องศึกษาท่าที่ถูกต้องเพื่อใช้กับอุปกรณ์ชิ้นนั้นๆ

2. ไม่สม่ำเสมอ

เมื่อคนออกกำลังกายต้องควบคุมท่าต่างๆเอง สิ่งหนึ่งที่ตามมาคือ การใช้แรงดันหรือแรงต้านน้ำหนักแบบไม่สม่ำเสมอ เพราะในแต่ละครั้งที่คุณเปลี่ยนองศาและความเร็ว เช่นการยกดัมเบลแล้วเหวี่ยงไปด้านหลัง ผลและแรงที่ใช้ย่อมแตกต่างกันในแต่ละครั้งเสมอ แปลว่าถ้าคุณออกกำลังกายแบบนี้ไปนานๆจนเริ่มเมื่อยล้า คุณก็สามารถออกแรงน้อยกว่าท่าที่ควรจะเป็นได้ทันที ทำให้ไม่เห็นผลต่อกล้ามเนื้ออย่างที่หวัง

3. ยากสำหรับมือใหม่

สำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นออกกำลังกายโดยไม่รู้จักท่าใดๆที่ใช้กับอุปกรณ์ Free Weight มาก่อน การเรียบรู้ท่าต่างๆอาจจะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะถ้าไม่มีเทรนเนอร์หรือ Spotter ที่คอยเซฟเวลาออกท่าต่างๆแล้ว มันก็ยากที่จะรู้ท่าที่ถูกต้องผ่านการดูจากคลิปออกกำลังกายในเน็ตหรือภาพเท่านั้น ดังนั้นการมีเทรนเนอร์หรือคนคอยดูท่าจึงอาจจะจำเป็นสำหรับการเริ่มต้น

เครดิตรูปภาพ :  Fitnessgenes

การออกกำลังกายแบบนี้ยังมีรายละเอียดที่ผู้เล่นต้องศึกษาอีกมาก เพราะอุปกรณ์แต่ละชิ้นก็มีข้อดีข้อเสียเฉพาะ แล้วแต่ฟังก์ชั่นในการเล่น เช่น ยางยืดแรงต้าน (Resistance Band) ที่มีน้ำหนักเบาและขนาดเล็กจนพกพาได้แต่ก็ชำรุด และมีรูได้ง่ายเช่นกัน ต่อมาลองมาดูฝั่ง Machine กันบ้างว่ามีมุมไหนที่ดีกว่า

ข้อดีของ Machine

1. เล่นง่ายไม่ซับซ้อน

เครื่องเล่นเวทแบบ Machine ส่วนใหญ่มักจะเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนและเล่นได้ไม่ยาก โดยที่คนเล่นสามารถดูคู่มือการเล่นและท่าที่ถูกต้องได้ทันทีซึ่งภาพเหล่านี้ก็มักจะติดไว้ข้างๆเครื่อง และ Machine เหล่านี้ก็มักจะล็อคท่าเมื่อเรานั่งได้ถูกต้อง เป็นการช่วยซัพพอร์ตการเล่นโดยไม่ต้องห่วงท่าเล่นที่ถูกต้องมาก ต่างจากอุปกรณ์ Free Weight ที่ไม่ได้มาพร้อมคู่มือ และต้องศึกษาท่าต่างๆเองทั้งหมด มันจึงดูจะเหมาะกับผู้ที่เริ่มออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่งมากกว่า Free Weight

2. โฟกัสกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน

ต่างจากการเล่น Free Weight ที่กระทบกับกล้ามเนื้อหลายส่วนภายใน 1 ท่า การใช้ Machine ก็มีข้อดีในการควบคุมกล้ามเนื้อส่วนเฉพาะที่สนใจอยากเล่นโดยมั่นใจได้ว่าท่าถูกต้อง และเมื่อออกแรงต้านน้ำหนักแล้วก็จะเห็นผลอย่างสม่ำเสมอ เพราะเครื่องออกกำลังกายนั้นออกแบบให้เราออกแรงเฉพาะส่วนได้ทันทีโดยที่แรงดันต้านกับน้ำหนักและแรงโน้มถ่วงคงที่ แปลว่าคนเล่นไม่สามารถออกแรงน้อยลงได้เมื่อเริ่มเหนื่อย เช่นการเล่น Bicep Curl Machine ที่เน้นกล้ามแขนส่วน Bicep ผู้เล่นสามารถวางแขนและยกน้ำหนักขึ้นลงเพื่อสร้างกล้ามแขนได้โดยโฟกัสแค่การหดตัวของกล้ามเนื้อเพียงเท่านั้น การเล่นแบบนี้จึงอาจจะเหมาะกับคนที่อยากสร้างกล้ามให้เห็นชัด และนิยมในหมู่นักเพาะกาย

เครดิตรูปภาพ : Kinxlearning

3. ความปลอดภัยสูง

โอกาสที่จะบาดเจ็บในการเล่นเวทเทรนนิ่งผ่าน Machine ถือว่าน้อยกว่า Free Weight อย่างชัดเจน นี่ไม่ได้หมายความว่าผู้เล่นจะไม่บาดเจ็บเลย 100 % แต่ด้วยความปลอดภัยจากการออกแบบอุปกรณ์ที่มีเพื่อช่วยซัพพอร์ตร่างกายส่วนอื่นของผู้เล่น ท่าที่ถูกต้อง และการจำกัดทิศทางในการเคลื่อนไหวและวิธีการเล่นอุปกรณ์แล้ว การบาดเจ็บจึงเกิดขึ้นยากกว่า ทำให้เหมาะกับผู้เริ่มต้นออกกำลังกายเช่นกัน

4. ไม่จำเป็นต้องมีเทรนเนอร์

จากข้อที่แล้วที่ระบุว่าการเล่นอุปกรณ์เวทแบบ Machine นั้นปลอดภัยและเล่นง่ายกว่า ผู้เล่นจึงไม่จำเป็นจะต้องมีเทรนเนอร์คอยดูท่า หรือช่วยประคองท่าเท่ากับ Free Weight เพราะพวกเขาสามารถทำความเข้าใจได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องกลัวการบาดเจ็บ แปลว่าอาจจะไม่ต้องเสียเงินจ้างเทรนเนอร์แพงๆหากต้องการออกกำลังกายเฉพาะส่วนแบบนี้นี่เอง

ข้อเสียของ Machine

1. ไม่ธรรมชาติ

จากท่าที่ถูกล็อคตำเหน่งตามลักษณะของเครื่องแล้ว การออกกำลังกายแบบนี้อาจจะไม่เหมาะและไม่สามารถนำมาใช้ได้กับการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน เช่นการยกโต๊ะ ยกของ หรือเข็นของหนักๆได้ และแม้ว่าเราจะฝึกยกน้ำหนักจาก Machine เป็นประจำ มันก็ไม่ได้แปลว่าเราจะสามารถยกน้ำหนักที่เท่ากันจากอุปกรณ์ Free Weight ได้เพราะเราไม่ได้เสริมกล้ามเนื้อ Stabilizer ส่วนต่างๆที่ช่วยล็อคและเสริมการยกท่านั้นๆเลย นอกจากนี้ ผู้เล่นก็อาจจะบาดเจ็บหนักกว่าในกรณีที่ออกแรงยกน้ำหนักผิดท่า ขัดกับระนาบของกล้ามเนื้อที่ควรออกแรงก็เป็นได้ แม้โอกาสบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจะน้อยกว่าก็ตาม

เครดิตรูปภาพ : Vectormovers

2. ไม่ได้เหมาะกับทุกคน

คล้ายกับเสื้อผ้าที่ไม่ได้ออกมาเพื่อคนทุกรูปร่าง เครื่องเวทเทรนนิ่งก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทุกคนเช่นกัน เพราะอุปกรณ์เหล่านี้มักจะออกแบบมาตามขนาดร่างกาย ส่วนสูง และน้ำหนักของคนส่วนใหญ่ตามค่าเฉลี่ย ถ้าคนออกกำลังกายนั้นสูงกว่า หรือเตี้ยกว่าคนทั่วไปมากๆ มันก็อาจจะยากที่จะเซตตำแหน่งให้พอดีกับเครื่อง ซึ่งสำหรับคนออกกำลังกายทั่วไป การเลือกซื้ออุปกรณ์แบบนี้ก็ต้องลองก่อนเสมอ แต่ในฟิตเนสที่อุปกรณ์นั้นซัพพอร์ตลูกค้าหลายๆกลุ่มที่มีรูปร่างแตกต่างกัน การเลือกซื้อให้เหมาะกับลูกค้ามากที่สุดและถูกต้องจึงจำเป็นมากๆ

3. ไม่หลากหลาย

จุดสุดท้ายที่ทำให้การออกกำลังกายแบบ Machine แพ้ Free Weight คือท่าทางและการเคลื่อนไหวที่จำกัดทำให้การออกกำลังกายดูน่าเบื่อ เมื่อต้องออกซ้ำๆเป็นประจำก็เป็นได้ ซึ่งปัญหานี้ก็อาจจะทำให้คนเล่นหมดความสนใจในการออกกำลังกายไปได้เลย การบาลานซ์ระหว่างการออกกำลังกายประเภทต่างๆ ทั้งเวทเทรนนิ่งและคาร์ดิโอ หรือการออกแบบ Machine และ Free Weight จึงสำคัญสำหรับแรงกระตุ้นในการออกกำลังกายให้สนุกสนาน

แล้วแบบไหนดีกว่ากันแน่ ?

จะเห็นได้ว่าการออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์ทั้ง 2 แบบต่างมีข้อดีข้อเสียเฉพาะของตัวเอง ปัจจัยหลักที่ใช้ในการเลือกออกกำลังกายจึงกลายมาเป็น “เป้าหมาย” ในการออกกำลังกายต่างหาก เพราะด้วยจุดประสงค์ และกล้ามเนื้อ รูปแบบที่แตกต่างกันไป ซึ่งสรุปได้ง่ายๆดังนี้

  • ออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก: Free Weight จะช่วยทำให้ได้ออกกำลังกายหลายส่วน และเผาผลาญพลังงานและแคลอรี่ได้มากกว่า
  • ออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูจากการป่วย: Machine จะเหมาะสมกว่าในแง่ของการโฟกัสกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนที่ต้องการฟื้นฟูและเพิ่มความแข็งแรง
  • ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพโดยรวม: Free Weight จะได้เปรียบตรงที่ช่วยเสริมกล้ามเนื้อ Stabilizer และข้อต่อต่างๆที่นำไปประยุกต์ใช้กับท่าทางในชีวิตจริงได้
  • ออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน: Machine ถือว่าตรงจุดประสงค์มากกว่าและอาจเห็นผลชัดกว่าด้วยความคงที่ของแรงต้านและท่าที่ถูกล็อคไว้

อย่างไรก็ตามสำหรับมือใหม่ การเลือกออกกำลังกายด้วย Machine ก็ง่ายกว่า Free Weight แต่ถ้ามีเทรนเนอร์คอยช่วยดูท่าและซัพพอร์ตแล้ว การเล่น Free Weight ให้ถูกท่าก็อาจจะเหมาะสมกว่า ดังนั้นการออกกำลังกายทั้ง 2 แบบควบคู่กันก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างกล้ามเนื้อมากขึ้น

สรุป

ในมุมของคนออกกำลังกายสุดท้ายแล้ว การคำนึงถึงเป้าหมายและข้อจำกัดอย่างเงินและพื้นที่เพื่อเลือกเล่นอุปกรณ์เวทเทรนนิ่งที่ถูกใจมากที่สุดก็เป็นเรื่องสำคัญ และมุมเจ้าของฟิตเนสที่ต้องเลือกซื้ออุปกรณ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ปัจจัยที่ต้องคำนึงคงเป็นพื้นที่และงบประมาณที่มี และ คำถามที่อาจจะเอาไว้ถามลูกค้า เพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้ออุปกรณ์เข้าฟิตเนส เช่น

  • ต้องการออกกำลังกายเพื่ออะไร
  • เคยบาดเจ็บหรือมีข้อจำกัดในการออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่งยังไงบ้าง
  • เคยออกกำลังกายกับอุปกรณ์เวทมาก่อนไหม

และการออกแบบฟิตเนสให้เหมาะกับลูกค้าเช่น การจัดพื้นที่เล่นสำหรับ Free Weight ให้เพียงพอกับอุปกรณ์ที่มี ไม่ใช่แค่พื้นที่สำหรับชั้นวางเท่านั้น การจัดคลาสช่วยสอนเวทเทรนนิ่งเพื่อใช้อุปกรณ์ Free Weight ให้ถูกต้องหรือมีเทรนเนอร์เบื้องต้นให้ลูกค้าช่วยบริการ ซึ่งถ้าสนใจอุปกรณ์ออกกำลังกายแบบ Free Weight หรือ Machine ก็ติดต่อสอบถาม Maxnum ได้เลย

Source: Verywellfit, Fringepursuits, Gymsource

ต้องการเปิดฟิตเนส?

ให้เราช่วยบอกคุณว่าควรเริ่มต้นอย่างไรให้ได้กำไรเข้าธุรกิจยิมของคุณให้ได้มากและเร็วที่สุด เราให้คำปรึกษาฟรีที่เหมาะกับขนาดพื้นที่และงบประมาณ

ปรึกษาฟรี!