เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงเห็นแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจด้านสุขภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ แถมในช่วงหลัง ๆ ที่มีการระบาดของโรค Covid-19 ผู้คนทั่วโลกก็ยิ่งตระหนักถึงการมีสุขภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น ทำให้เทรนด์สุขภาพนั้นมาแรงแซงทางโค้ง สวนทางกับธุรกิจด้านอื่น ๆ เลยทีเดียว
ด้วยเหตุผลนี้จึงเป็นตัวจุดประกายทำให้หลาย ๆ คนเริ่มอยากมาเปิดธุรกิจด้านสุขภาพอย่างฟิตเนสกันมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายซะทีเดียว เพราะถึงแม้สถานการณ์โรคระบาดของ Covid-19 จะทำให้ผู้คนเริ่มออกกำลังกาย และหันมารักสุขภาพ
อีกมุมหนึ่งก็ทำเอาเทรนด์สุขภาพที่มาแรงสั่นคลอนอยู่เหมือนกัน เนื่องจากมาตรการการรักษาระยะห่าง ทำให้ผู้คนไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำให้แม้แต่เทรนด์ธุรกิจที่มาแรงก็ต้องปิดหน้าร้านไปตาม ๆ กัน
แต่อย่าเพิ่งรีบตกใจไป เพราะในวันนี้เราจะมาแนะนำสำหรับคนที่กำลังลังเลหรือกำลังศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดธุรกิจฟิตเนสในช่วงนี้ เพื่อเป็นทิศทางในการตัดสินใจ และให้คุณนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดครับ
กระแสธุรกิจด้านฟิตเนสนั้นมีตัวเลขที่เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ฟิตเนสขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไปจนถึงขนาดใหญ่ โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ระบุไว้ว่ารายได้รวมของกลุ่มธุรกิจฟิตเนสย้อนหลังไปในช่วงปี 2558-2560 ที่ผ่านมา
มีรายได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยถึง 12.40% ต่อปี ประกอบไปด้วย ฟิตเนสขนาดเล็กที่มีรายได้รวมเพิ่มขึ้นในอัตราที่ก้าวกระโดดถึง 37.88% และ 38.83% ในปี 2559 และ 2560 ตามลำดับสอดคล้องกับแนวโน้มของผู้ที่เห็นโอกาสการเติบโตจึงเปิดตัวฟิตเนสกันมากขึ้น และพยายามกระจายตัวในย่านชุมชน
ส่วนธุรกิจฟิตเนสขนาดกลาง กับขนาดใหญ่นั้น ก็ยังคงมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันคิดเป็น 30.46% ในปี 2558 และมีอัตราเติบโตที่ชะลอตัวลงเหลือ 5.56% ในปี 2560 (ส่วนของกำไร) จะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าธุรกิจด้านนี้เป็นสัดส่วนสำคัญทำสามารถกอบโกยกำไรสูงขึ้นเรื่อย ๆ
มีคำพูดจากผู้คนมากมายที่กล่าวถึงเทรนด์สุขภาพ แต่จริง ๆ แล้วคำว่าเทรนด์สุขภาพนี้มีผลกระทบมาจาก 3 ปัจจัยนี้เพียงเท่านั้น ที่ทำให้ผู้คนเริ่มหันมาออกกำลังกายกันมากขึ้น ซึ่งเราสรุปมาให้คุณแล้ว ดังนี้
เพราะการป่วยแต่ละครั้งนั้นมีค่ารักษาพยาบาลที่สูงมาก จนบางคนถึงขั้นอุทานออกมาว่า “ลำพังแค่ค่ารักษาพยาบาลก็ทำให้คุณล้มละลายได้” หลายคนจึงเลือกที่จะป้องกันดีกว่ามาแก้ไขทีหลัง จึงนำมาสู่การออกกำลังกายที่เน้นเสริมสร้างสุขภาพให้ตัวเองแข็งแรง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงของค่าใช้จ่าย เพราะพวกเขาหันมาออกกำลังกายเพื่อพยายามหลีกเลี่ยงให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ นั่นเอง
ข้อมูลจาก Global Wellness Institute ระบุว่าประชากรกว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลกเป็นกลุ่มใหญ่ที่เป็นวัยทำงาน และ 76% ของคนทำงานเหล่านั้นมีปัญหาด้านสุขภาพ ขณะที่ 52% น้ำหนักเกินหรืออยู่ในภาวะโรคอ้วน ซึ่งสาเหตุก็มาจากไลฟ์สไตล์ที่เข้าสู่ยุคใหม่ เช่น นั่งทำงานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน เคลื่อนไหวร่างกายน้อย กินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ นำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพ และเมื่อพวกเขาตระหนักถึงสิ่งที่กำลังเผชิญ คนส่วนใหญ่จึงเริ่มหันมาออกกำลังกายเพื่อแก้ปัญหาที่เสี่ยงต่ออันตราย
ถ้าย้อนกลับไปในช่วงยุค 1970 หรือช่วงก่อนหน้านั้น คนที่คลั่งไคล้การออกกำลังกายจะถูกมองว่าแปลก เนื่องจากคนยุคก่อน ๆ นั้นเคร่งเรื่องการแต่งตัว และการแสดงออกที่มีความอ่อนโยน แถมช่วงนั้นแฟชั่นชุดออกกำลังกายก็ไม่มีเหมือนในยุคนี้ที่การไปยิมแต่ละทีจะเน้นชุดอุปกรณ์เสริมที่ทำให้ดูดี เพื่อที่จะได้ถ่ายรูปโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือเป็นแรงจูงใจที่ดีในการออกกำลังกาย ธุรกิจฟิตเนสกับธุรกิจผลิตภัณฑ์ชุดออกกำลังกายจึงเติบโตไปควบคู่กัน
ทีนี้เรามาเข้าประเด็นกับคำถามที่หลายคนอยากรู้ และต้องการคำตอบกันดีกว่า ว่าธุรกิจฟิตเนสที่เราเห็นแล้วว่ามันมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อต้องมาพบเจอกับผลกระทบของจากเทคโนโลยีที่มีความล้ำสมัย และผลกระทบจาก Covid-19 ที่เป็นฝันร้ายของหลาย ๆ คน ธุรกิจอย่างฟิตเนสนั้นต้องพบเจอกับอะไรบ้าง และควรมีวิธีแก้ไขรับมือกับมันอย่างไร
แน่นอนว่าธุรกิจฟิตเนสนั้นเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ จากการที่ต้องปิดตัวไปนาน และยังมีความกังวลด้วยว่าจะสามารถเปิดให้บริการเหมือนเดิม 100% ได้หรือไม่ เพราะหลังจากนี้อาจกลายเป็นวิถีชีวิต New Normal (ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม) ทำให้จำนวนสมาชิกถดถอยลง
และยังมีในเรื่องความล้ำสมัยของเทคโนโลยีที่หลายคนคิดว่าอาจเข้ามา Disrupt วงการฟิตเนสด้วย เนื่องจากมีบริษัทอย่าง Peloton (ในประเทศสหรัฐอเมริกา) ที่ให้บริการสมาชิกด้วยคลาส Steam โดยให้สมาชิกออกกำลังกายในบ้านด้วยเครื่องออกกำลังกายลู่วิ่งไฟฟ้า และจักรยาน ที่มีหน้าจอ Touch Screen, ลำโพงขนาดใหญ่ และที่พิเศษก็คือคลาสเรียนออนไลน์ที่ติดมากับเครื่องออกกำลังกายที่เสมือนมีเทรนเนอร์จริง ๆ คอยกระตุ้นให้สมาชิกได้ออกกำลังกายอย่างสนุกสนานและดุดันมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
แต่สำหรับประเทศเราเองนั้นอีกมุมหนึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดีไม่น้อย เพราะหลาย ๆ เจ้าที่สามารถปรับตัวตามสถานการณ์และปรับตัวตามพฤติกรรมของมนุษย์นั้น ก็เริ่มหันมาให้บริการสมาชิกทางออนไลน์มากขึ้น
ยกตัวอย่างเจ้าใหญ่ ๆ เช่น Fitness First ก็ได้มีการปรับตัวด้วยการนำเอาคลาสเรียนไปสอนตามสื่อออนไลน์อย่าง Facebook หรือ Youtube เพื่อให้สมาชิกยังสามารถได้ออกกำลังกายไปด้วยกัน และยืดเวลาการเก็บค่าสมาชิกให้แก่ลูกค้าด้วย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้ายังคงออกกำลังกายได้ และมัดใจลูกค้าให้เป็นสมาชิกต่อไป
แล้วฟิตเนสเจ้าเล็ก ๆ ที่มีทุนไม่เยอะล่ะ ? ฟิตเนสส่วนใหญ่เริ่มหาช่องทางที่สามารถเพิ่มรายได้จากส่วนอื่น ตั้งแต่ การปล่อยเช่าอุปกรณ์ออกกำลังกาย, ขยายเวลาการเก็บค่าสมาชิก, คลาสเทรนเนอร์ส่วนตัวที่เคร่งเรื่องการรักษาระยะห่าง และอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้สามารถกอบโกยรายได้ในช่วงนี้นั้นก็คือ “การขายเครื่องออกกำลังกาย” เพื่อตอบสนองต่อผู้ที่ต้องการออกกำลังกายอยู่บ้านนั่นเอง
แม้ว่าช่วงวิกฤติแบบนี้จะเป็นช่วงที่ไม่เหมาะแก่การลงทุนเลยก็ตาม แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงธุรกิจด้านฟิตเนสนั้นยังคงเป็นที่น่าจับตามองและเป็นสิ่งที่น่าลงทุนมาก ๆ นั่นเป็นเพราะว่าพฤติกรรมของมนุษย์นั้นตระหนักถึงการมีสุขภาพที่ดี
จึงทำให้นักลงทุนหลายคนนั้นถึงขั้นเอ่ยปากพูดอย่างมั่นใจเลยว่า ธุรกิตฟิตเนสจะเป็นธุรกิจ New Normal ที่ผู้คนจะยิ่งให้ความสนใจกันต่อสุขภาพกันมากขึ้น แม้ว่าในช่วงแรกอาจจะมีความระแวดระวังของโรคอยู่ แต่ในอนาคตผู้คนจะยิ่งหันมาออกกำลังกาย และซื้อเครื่องออกกำลังกายไว้ภายในบ้านกันมากขึ้นนั่นเอง
ก่อนอื่นเราต้องขอบอกว่าในสถานการณ์ช่วงนี้อย่างที่ทุกคนทราบกันเป็นอย่างดีว่าไม่ค่อยเหมาะกับการลงทุนสักเท่าไหร่ เพียงแต่เราต้องการมาย้ำเตือนถึงเทรนด์สุขภาพที่มาแรง และจะยังคงแรงต่อเนื่อง อีกทั้งธุรกิจฟิตเนสนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่น่าจับตามอง และน่าลงทุนเป็นอย่างของหลาย ๆ คนด้วย (ในช่วงสถานการณ์ดีขึ้น)
อย่างไรก็ตามหากคุณกำลังสนใจและเห็นช่องทางการเติบโตของตลาดฟิตเนสนั้น คุณควรศึกษาและติดตามสถานการณ์ข่าวต่าง ๆ อยู่ตลอดด้วย เพื่อที่คุณจะได้จับจังหวะในการลงทุนได้อย่างถูกต้อง และสามารถชิงจังหวะสร้างผลกำไรได้ก่อนใครอีกด้วย
หากคุณไม่มีความรู้เรื่องการเปิดฟิตเนส สามารถเข้ามาปรึกษากับเราได้แบบฟรี ๆ เรามีทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์มากกว่า 20 ปี พร้อมให้คำปรึกษากับคุณ ทั้งการวางแผนการตลาด กลุ่มเป้าหมาย เครื่องออกกำลังกาย ครบจบในที่เดียว ขอคำปรึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่
ให้เราช่วยบอกคุณว่าควรเริ่มต้นอย่างไรให้ได้กำไรเข้าธุรกิจยิมของคุณให้ได้มากและเร็วที่สุด เราให้คำปรึกษาฟรีที่เหมาะกับขนาดพื้นที่และงบประมาณ